เปิดอาณาจักร ตำนาน S&P จากร้านตึกแถวสู่บริษัทหมื่นล้าน
กำเนิดร้าน เอส แอนด์ พี (S&P) จากร้านอาหารที่เป็นเพียงจุดนัดพบของนักการเมืองในย่านสุขุมวิท มีแต่ทหารอเมริกันเดินเพ่นพ่าน เสิร์ฟเพียงไอศกรีมโฟร์โมสต์ และอาหารจานเดียวไม่กี่เมนูในตึกแถวคูหาเดียวเล็กๆ

ประวัติความเป็นมา
ร้าน เอส แอนด์ พี (S&P) เริ่มต้นเมื่อปี 2516 จากร้านขายอาหาร ไอศกรีม และของว่าง ในซอยประสานมิตร สุขุมวิท 23 จากนั้นได้ขยายมาสู่ธุรกิจร้านเบเกอรี่ และเป็นผู้นำในการผลิตเค้กแต่งหน้าตามสั่ง และเค้กลายการ์ตูนรายแรกในประเทศไทย
อาหารและเบเกอรี่ของเอส แอนด์ พี ได้รับความนิยมและเชื่อถืออย่างมากจากลูกค้า จนมีการขยายสาขาอย่างรวดเร็วตามแหล่งทำเลที่สำคัญฯ ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
ในปี 2532 บริษัท เอส แอนด์ พี จำกัด จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) บริษัทมีการลงทุนและขยายงานทั้งทางด้านธุรกิจร้านอาหารและการผลิตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แบรนด์ “เอส แอนด์ พี” โดยแบ่งเป็นร้านอาหารเอส แอนด์ พี และเอส แอนด์ พี เบเกอรี่ชอพ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
นอกจากนี้บริษัทยังประสบผลสำเร็จในการนำเสนอและสร้างแบรนด์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ “ภัทรา” “พาทิโอ” “บลูคัพ” “วานิลลา” และผลิตภัณฑ์ขนมไทย “Simply Thai” รวมทั้งขนมไหว้พระจันทร์ยี่ห้อ “S&P” และ “มังกรทอง” สำหรับธุรกิจต่างประเทศ ในปี 2533 บริษัทได้เปิดร้านอาหารไทยแห่งแรกภายใต้ชื่อร้าน “ภัทรา” (Patara Fine Thai Cuisine) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ประกอบกับความนิยมของอาหารไทยในต่างประเทศมีมากขึ้น จึงมีการขยายร้านอาหารอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 บริษัทมีสาขารวม 20 สาขา ภายใต้แบรนด์ Patara, Patio, THAÏ, Siam Kitchen และ Bangkok Jam นอกจากนี้ บริษัทได้อนุญาตให้บริษัท Strategic Brands Network เป็นผู็ดำเนินธุรกิจร้านอาหารไทยภายใต้ลิขสิทธิ์แบรนด์ Thai – Patio มี 1 สาขา ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ในด้านธุรกิจอาหารสำเร็จรูป
บริษทได้ขยายเข้าสู่ธุรกิจอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานและผลิตภัณฑ์ไส้กรอก เพื่อเป็นการตอบสนองต่อทัศนคติและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค แม้ธุรกิจดังกล่าวจะยังมีขนาดตลาดที่ไม่ใหญ่มากนักในปัจจุบัน แต่มีศักยภาพที่จะเติบโตสูงในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทได้ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาด้านธุรกิจอาหารสำเร็จรูปอย่างต่อเนื่อง
เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยเน้นจุดแข็งในแง่คุณภาพ รสชาติ และความหลากหลายของเมนู นอกจากนี้ กลุ่มเอส แอนด์ พี ยังเป็นผู้นำในการให้บริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่แบรนด์ “Caterman” บริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน และบริการอาหารปิ่นโต (Delivery : 1344)

จากการที่กิจการของ เอส แอนด์ พี มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในธุรกิจอาหารและเบเกอรี่ บริษัทได้ก่อสร้างโรงงานเบเกอรี่แห่งแรกที่ถนนสุขุมวิท 62 ในปี 2527 และได้สร้างเพิ่มเติมที่เชียงใหม่ ภูเก็ต และถนนบางนา-ตราดในเวลาต่อมา นอกจากนี้ บริษัทยังได้สร้างโรงงานผลิตอาหารแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ไส้กรอกที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังอีกด้วยปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำทางธุรกิจร้านอาหารและเบเกอรี่แบบครบวงจร
โดยปัจจัยหลักที่บริษัทยึดถือปฏิบัติมาตลอด 36 ปี คือ การนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพ คัดสรรวัตถุดิบ และผลิตอย่างพิถีพิถัน รวมทั้งความมุ่งมั่นพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่แสดงถึงความใส่ใจของบริษัทในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าให้ดีที่สุด

ธุรกิจร้านอาหารและร้านเบเกอรี่ในประเทศ
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 บริษัทมีร้านอาหารและร้านเบเกอรี่ที่ดำเนินการอยู่ภายใต้การดำเนินการของ S&P รวม 330 สาขาและเมื่อรวมกับบริษัทในเครือจะมีรวม 362 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นช่องทางจัดจำหน่ายที่สำคัญและทำรายได้หลักของบริษัทโดยบริษัทมีการวาง Positioning ของแต่ละร้านที่แตกต่างกันเพื่อให้สามารถเข้าถึงและครอบคลุมกลุ่มลูกค้าได้มากที่สุด
ทั้งนี้ ร้านอาหารและร้านเบเกอรี่ เอส แอนด์ พี จะมุ่งกลุ่มลูกค้าในวงกว้าง (Mass Customization) ในขณะที่ร้านอาหารแบรนด์อื่นจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น (Specialty Restaurant)

ปัจจุบันผงาดกลายเป็นบริษัทมหาชน เจ้าของอาณาจักรเบเกอรี่ที่มีสาขาเกือบ 500 สาขา มีพนักงานมากถึง 7,000 คน แต่ละปีจำหน่ายเค้กได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านก้อน รายได้รวมทั้งปีเหยียบหมื่นล้านบาท นั่นคือ บริษัท เอส แอนด์ พี จำกัด (มหาชน) หรือ S&P (Super Service & Premium Product) เจ้าของสโลแกน “ชื่อนี้มีแต่ของอร่อย” บุกเบิกโดย 5 นักเรียนนอกพี่น้องตระกูล “ไรวา” โดยมีคุณภัทราเป็นหัวเรือใหญ่ ตามมาด้วย คุณพรพิไล คุณพันทิพา คุณสุทธิสุดา และคุณสมศรี ช่วยกันลงขัน คนละ 2 หมื่น 5 พันบาท

คุณกำธร ตอกย้ำว่า หัวใจสำคัญที่ทำให้ เอส แอนด์ พี ยืนหยัดมาได้เกือบ 50 ปี เกิดจากความรักของผู้ก่อตั้งทุกคน โดยเฉพาะคุณแม่ ญาติๆ ที่ทุกวันนี้พวกท่านยังคอยคิดค้น และพัฒนาเมนูใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เกือบทุกเมนูที่วางขาย คุณแม่จะต้องชิมก่อน รวมถึงการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง พัฒนาระบบไอที มีพาร์ทเนอร์มาร่วมขยายธุรกิจ อย่าง “บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล”
“นับจากนี้ไปเส้นทางของ S&P ยังอีกยาวไกล แต่กุญแจความสำเร็จขององค์กร คือ คนในครอบครัวที่ยังเหนียวแน่นประสานรวมกันเป็นหนึ่งเดียว และวิสัยทัศน์การพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง” คุณกำธรตอกย้ำ
ติดตามบทความอื่น ๆ ได้ที่ : Starbuck Coffee Company
ติดตามบทความอื่น ๆ ได้ที่ : ฮาชิมะ เกาะร้าง วิญญาณเฮี้ยน